(เดลีมาร์เก็ต พุธ 30 พ.ย.54)
การสืบทอดราชบัลลังก์เบญจมาศของญี่ปุ่นที่เป็นปัญหามานาน เนื่องจากการขาดแคลนรัชทายาทฝ่ายชาย อาจมีทางออกใหม่ในเร็วๆ นี้ หลังจากข้อเสนอเปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาลให้เจ้านายสตรีขึ้นครองราชย์ได้ มีอันตกไปเมื่อเจ้าชายฮิซาฮิโตะ พระโอรสในเจ้าชายอากิชิโน และเจ้าหญิงกิโกะ ทรงประสูติเมื่อ 5 ปีก่อน กลายเป็นเจ้าชายพระองค์แรกในรอบ 40 ปี
สำนักพระราชวังอิมพีเรียลแจ้งต่อรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ขอให้รีบพิจารณาข้อเสนอให้เจ้านายสตรีคงฐานันดรศักดิ์ต่อไปได้หลังสมรสกับสามัญชน เพื่อรักษาความมั่นคงของราชบัลลังก์และการสืบสันตติวงศ์
ตามกฎดั้งเดิมที่ยึดถือสืบต่อกันมานาน เจ้าหญิงแห่งราชวงศ์ญี่ปุ่นที่สมรสกับสามัญชน จะต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์ และกลายเป็นสามัญชนเช่นเดียวกับสามี
เจ้าหญิงซายาโกะ พระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เป็นเจ้านายสตรีรายล่าสุดที่สมรสกับสามัญชน และต้องลาออกจากฐานันดรศักดิ์ เมื่อปี 2548
ตามข้อเสนอใหม่ เจ้านายสตรีที่สมรสกับสามัญชน สามารถคงฐานันดรศักดิ์ตามเดิม และทายาทที่ถือกำเนิดขึ้นจะมีสิทธิสืบราชบัลลังก์
สาเหตุที่ต้องมีการหารือประเด็นนี้อย่างเร่งด่วน เป็นเพราะราชวงศ์อิมพีเรียลมีสมาชิกเพียง 23 พระองค์ เจ้านายฝ่ายชาย 4 ใน 6 พระองค์ มีพระชนมายุ 60 พรรษาขึ้นไป ส่วนเจ้านายสตรีที่ยังไม่สมรสมีอยู่ 8 พระองค์ รวมถึงเจ้าหญิงไอโกะ พระชันษา 9 ปี พระธิดาในเจ้าชายนารุฮิโต มกุฎราชกุมาร เจ้าหญิงมาโกะ พระชันษา 20 ปี และเจ้าหญิงคาโกะ พระชันษา 16 ปี พระธิดาในเจ้าชายอากิชิโน
โอซามุ ฟูจิมูระ โฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น เผยว่า ชินโง ฮาเคตะ เลขาธิการสำนักพระราชวัง เข้าพบ โยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม เพื่อหารือสถานการณ์และอนาคตของราชวงศ์
การที่เจ้านายฝ่ายชายหลายพระองค์ทรงมีพระชนมายุสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เจ้านายสตรีต้องสูญเสียฐานันดรศักดิ์หลังการสมรสกับสามัญชน จะทำให้ราชวงศ์มีสมาชิกร่อยหรอ และไม่อาจปฏิบัติพระกรณียกิจทั้งหมดที่มีอยู่
แม้ยังไม่มีการหารือรอบใหม่เกี่ยวกับการเปิดทางให้เจ้านายสตรีขึ้นครองราชย์ แต่หากรัฐบาลยินยอมเปลี่ยนแปลงกฎให้เจ้านายสตรีคงฐานันดรศักดิ์เอาไว้ได้ และมีทายาทสืบทอดบัลลังก์ได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่เจ้านายสตรีจะมีสิทธิ์ขึ้นครองราชย์ในอนาคต
No comments:
Post a Comment