Thursday, November 24, 2011

เก็บตกอินเดีย

สืบเนื่องจากทริปอินเดียเมื่อเดือนกันยายน นอกจากเขียนข่าวแล้วก็เขียนเรื่องท่องเที่ยวด้วย เรื่องหลักได้ขึ้นเว็บของกรุงเทพธุรกิจ สามารถอ่านได้ที่นี่ ฝ่าแดด กรำฝน ยลมรดกโลกอินเดีย แต่เรื่องรองไม่ได้รับเกียรติ เลยต้องเอามาแปะไว้ที่นี่แทน เป็นเรื่องเกี่ยวกับ culture shock เล็กๆ น้อยๆ เท่าที่จำได้ เชิญอ่านกันได้เลยจ้า





*****************************************

แปลกหู แปลกตา

การเดินทางไปต่างถิ่นมักมีประสบการณ์แปลกใหม่ให้เราลิ้มลองอยู่เสมอ และการเดินทางไปอินเดียครั้งแรกในชีวิตของฉัน ก็มีเรื่องราวน่าประหลาดใจให้พบเจอแทบทุกวัน

คน คน คน แล้วก็คน แม้จะรู้อยู่แล้วว่าอินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดกว้างใหญ่ จำนวนประชากรก็มากมาย แต่ไม่คิดเลยว่าจะได้เห็นผู้คนเยอะแยะเกือบตลอดเวลา ชวนให้สงสัยว่าคนอินเดียไม่ได้ทำการทำงานกันหรืออย่างไร จึงมีเวลามาปรากฏตัวกันเพ่นพ่านขนาดนี้
ระหว่างนั่งรถจากกรุงนิวเดลีไปยังเมืองอักรา ซึ่งมีระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร ฉันสังเกตเห็นว่ามีแหล่งชุมชนอยู่ติดๆ กันไป แทบไม่รู้สึกว่าเป็นการเดินทางไปต่างเมือง และตามชุมชนเหล่านั้นก็มีผู้คนเดินไปมาขวักไขว่ ขณะที่โรงเรียนต่างๆ ก็มีนักเรียนเดินกันเป็นทิวแถว เนื่องจากเป็นช่วงก่อนเข้าเรียน
ป้ายรถเมล์เป็นจุดหนึ่งที่มีผู้คนเยอะมากๆ หลายแห่งยืนกันจนล้นลงมาที่ถนน สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็มีคนท้องถิ่นเต็มไปหมด เทียบกับสถานที่สำคัญของไทย อย่าง วัดพระแก้ว มองไปทางไหนก็จะเห็นแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ที่ ทัช มาฮาล และที่อื่นๆ ในอินเดีย มองไปทางไหนก็เห็นแต่นักท่องเที่ยวท้องถิ่น แม้ว่าอาจจะมาจากต่างเมือง แต่ก็เป็นคนอินเดียอยู่ดี
แม้แต่การทำงานบางอย่างที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนเยอะ ที่อินเดียก็จะมีคนมามะรุมมะตุ้มกันให้เอิกเกริก มองแล้วช่างคึกคักกันน่าดู
นอกจากเรื่องของจำนวนผู้คนแล้ว ลักษณะนิสัยและการดำเนินชีวิตของคนอินเดียก็ค่อนข้างแปลกในสายตาฉัน อย่างแรกเลยคงเป็นเรื่องของการส่ายหน้า แม้จะเคยรับรู้มาก่อนว่าคนอินเดียชอบส่ายหน้าแทนการตอบรับ แต่เมื่อมาเห็นของจริงก็อดแปลกใจไม่ได้ เนื่องจากไม่ชิน จนกระทั่งถึงวันสุดท้าย เมื่อขอให้คนอินเดียช่วยถ่ายรูปให้ หลังจากถ่ายเสร็จแล้ว ตากล้องจำเป็นก็ลอยหน้าลอยตาส่ายหัว ประมาณว่า โอเค ถ่ายเสร็จแล้ว แต่ฉันดันเข้าใจว่ายังไม่โอเค ต้องถ่ายใหม่ กว่าจะเข้าใจกันได้ เล่นเอามึน
เรื่องการส่ายหน้านี้ มีการกันพูดเล่นๆ ว่า ถ้าคนอินเดียส่ายหน้าแปลว่าใช่ แต่ถ้าพยักหน้าแปลว่าไม่ใช่ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นการปฏิเสธ พวกเขาจะส่ายหน้าเร็วๆ แรงๆ ต่างหาก
นิสัยการขับรถของคนอินเดียก็เป็นเรื่องน่าทึ่งไม่น้อย พวกเขาจะมุ่งตรงไปข้างหน้าอย่างเดียว โดยไม่ต้องมองซ้ายหรือขวา การเบียดแซงถือเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับการบีบแตรส่งสัญญาณ ไม่มีใครจอดรถลงมาหาเรื่องกันด้วยสาเหตุเหล่านี้
คนอินเดียชินกับเสียงแตร จนมีเรื่องเล่าว่า ชาวอินเดียกลุ่มหนึ่งเดินทางมาเมืองไทย รู้สึกอึดอัดใจมากที่คนขับรถไม่ยอมบีบแตรเลย จนกระทั่งเมื่อรถจอด ก็มีกระทาชายนายหนึ่งไปทดลองบีบแตรเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ทุกคนจึงพากันโล่งอกว่าแตรรถไม่ได้เสียแต่อย่างใด หลังจากนั่งลุ้นระทึกกันมานาน
ทางด้านของคนเดินเท้า เท่าที่เห็นไม่ค่อยมีสะพานลอย คนที่จะข้ามถนนแบบไม่มีทางม้าลาย ต้องอาศัยความกล้า หรือไม่ก็ข้ามกันเป็นหมู่คณะ ซึ่งเรื่องนี้อาจไม่ค่อยแปลกสำหรับคนไทย เพราะมีชะตากรรมคล้ายๆ กัน
เรื่องของปากท้องเป็นอีกประเด็นสำคัญ คนอินเดียรับประทานอาหารสายมาก มื้อแรกอยู่ที่ประมาณ 8 โมงเช้า มื้อกลางวันประมาณบ่ายโมง และมื้อค่ำประมาณ 3-4 ทุ่ม และระหว่างมื้อจะมีอาหารว่างมาคั่น ซึ่งอาหารว่างบางครั้งมีปริมาณมากพอที่จะทำให้อิ่มได้เลยทีเดียว และอาหารว่างนี้ถือเป็นสวัสดิการส่วนหนึ่งตามสถานที่ทำงานต่างๆ ด้วย
อาหารอินเดียส่วนมากมีแต่แป้งกับผัก และอุดมไปด้วยเครื่องเทศกลิ่นแรง แต่น่าประหลาดว่าคนอินเดียส่วนมากที่เราเจอในเมืองไทยมักจะมีกลิ่นตัวแรง แต่เมื่ออยู่ในอินเดียกลับไม่ค่อยได้กลิ่นเท่าไหร่ บางทีจมูกของฉันอาจปรับตัวได้เร็ว หรือไม่ก็เป็นเพราะว่าไม่ได้มีโอกาสไปอยู่ท่ามกลางคนอินเดียอย่างจริงจัง
ระยะเวลาเพียงแค่สัปดาห์เดียวในอินเดีย ฉันได้เจอเรื่องแปลกๆ มากมาย ต้องขอบคุณสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ที่ทำให้ฉันได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ครั้งนี้

No comments: