(เดลีมาร์เก็ต 8 ส.ค.55)
ฟิจิ ประเทศที่ประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยรวม 322 เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษนานเกือบ 1 ศตวรรษ จนกระทั่งได้รับเอกราชเมื่อปี 2513 และประกาศตัวเป็นสาธารณรัฐในปี 2530 แต่ยังคงสืบทอดธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่างของอังกฤษมาจนปัจจุบัน รวมถึงการกำหนดให้วันเฉลิมพระชนมพรรษาองค์พระประมุขแห่งอังกฤษเป็นวันหยุดราชการ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารภายใต้การนำของ พลเรือจัตวาโวเรเก ไบนิมารามา ซึ่งยึดอำนาจโดยการปฏิวัติเมื่อปี 2549 ประกาศเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถอดถอนวันเฉลิมพระชนมพรรษาออกจากปฏิทินวันหยุดประจำปี โดยระบุว่า วันดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับฟิจิอีกต่อไป
รัฐบาลของพลเรือจัตวาไบนิมารามาอ้างว่า การยกเลิกวันหยุดในวันเฉลิมพระชนมพรรษา จะช่วยกระตุ้นผลิตผลทางเศรษฐกิจในประเทศ
โจเน อูซามาเต โฆษกประจำกระทรวงแรงงานฟิจิ กล่าวว่า ความสำคัญของวันเฉลิมพระชนมพรรษาเริ่มจางหายไปจากฟิจิ ตั้งแต่ประเทศแห่งนี้กลายเป็นสาธารณรัฐ สถานะปัจจุบันของฟิจิคือประเทศเอกราช
อูซามาเต กล่าวเสริมว่า ความสนใจของฟิจิในตอนนี้คือการเสริมสร้างผลิตผลและการเติบโตทางเศรษฐกิจ การตัดสินใจยกเลิกวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็นวันหยุดราชการ ก็เพื่อลดจำนวนวันหยุดในประเทศ เนื่องจากวันหยุดอาจเป็นภาระต่อทั้งภาคธุรกิจและรัฐบาล
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลฟิจิประกาศเมื่อปีที่แล้ว ให้ใช้ภาพพันธุ์พืชและสัตว์ แทนพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่สอง บนเหรียญและ ธนบัตร เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟิจิไม่ต้องการข้องเกี่ยวกับอังกฤษอีกต่อไป น่าจะมาจากการที่อังกฤษสนับสนุนการระงับสมาชิกภาพของฟิจิ ในคณะมนตรีองค์กรเครือจักรภพ เมื่อปี 2552 หลังจากรัฐบาลของพลจัตวาไบนิมารามา ไม่รักษาสัญญาจัดการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ วันเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างเป็นทางการขององค์พระประมุขอังกฤษ จะอยู่ในเดือนมิถุนายนของทุกปี ไม่ว่าองค์พระประมุขในขณะนั้นจะเสด็จพระราชสมภพเมื่อใด อันเป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่เจ็ด ที่ทรงโปรดให้มีการจัดขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองท่ามกลางอากาศที่แจ่มใสของฤดูร้อน
หลายประเทศที่เป็นสมาชิกเครือจักรภพ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยังคงรักษาธรรมเนียมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาในเดือนมิถุนายน แต่มีการกำหนดวันแตกต่างกันไป สำหรับในฟิจิตรงกับวันที่ 12 มิถุนายน ขณะที่อังกฤษฉลองกันในวันเสาร์ที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 ของเดือน จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ
No comments:
Post a Comment