Thursday, January 5, 2012

"โกดัก" ผู้แพ้ในโลกดิจิทัล


(น.21 กรุงเทพธุรกิจ ศุกร์ 6 ม.ค.55)

การปฏิวัติดิจิทัลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ ก็สามารถเอาตัวรอดได้ ส่วนผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ก็ต้องถูกเขี่ยตกเวทีไป

อีสต์แมน โกดัก ผู้บุกเบิกธุรกิจฟิล์มและกล้องถ่ายรูป กลายเป็นเหยื่อรายล่าสุดของการปฏิวัติดิจิทัล เมื่อมีรายงานว่า บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งนี้อาจต้องยื่นคำร้องขอรับการพิทักษ์ทรัพย์ภายใต้กฎหมายล้มละลายมาตร 11 ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ หากไม่สามารถขายสิทธิบัตรดิจิทัลกว่า 1,000 รายการในครอบครอง

การเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย อาจเป็นการขึ้นบทใหม่และบทสุดท้าย ของบริษัทที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน จากกิจการเล็กๆ เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 จนกลายเป็นตรายี่ห้อระดับโลก และเป็นตัวแทนวัฒนธรรมป๊อปในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ก่อนซวดเซลงเมื่อต้นศตวรรษที่ 21

อีสต์แมน โกดัก ก่อตั้งโดย จอร์จ อีสต์แมน นักประดิษฐ์แห่งเมืองโรเชสเตอร์ ที่พัฒนาให้กล้องและฟิล์มใช้งานได้ง่ายขึ้น เพื่อให้คนทั่วไปถ่ายรูปได้เองโดยไม่ต้องพึ่งช่างภาพมืออาชีพ

ตลอดศตวรรษที่ 20 โลกของการถ่ายภาพมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง และ อีสต์แมน โกดัก ก็สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่กล้องที่ทำงานด้วยกลไกเฟืองและสปริงต่างๆ จนมาถึงกล้องที่ใช้ระบบไฟฟ้าควบคุมการทำงาน จากการถ่ายภาพนิ่งมาเป็นภาพเคลื่อนไหว จากฟิล์มขาวดำมาเป็นฟิล์มสี ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้ง อีสต์แมน โกดัก สามารถออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่คิดค้นขึ้นมาเอง บนฐานตลาดที่แข็งแกร่ง
อีสต์แมน โกดัก ทำยอดขายได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2505 และการเติบโตของบริษัทยังช่วยให้เมืองโรเชสเตอร์กลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีแห่งหนึ่งของสหรัฐ โดยเมืองนี้เป็นบ้านเกิดของ ซีร็อกซ์ ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์และเครื่องถ่ายเอกสารชั้นนำอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เอาตัวรอดจากคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงมาได้หลายยก ต่างพบว่าเป็นเรื่องยากที่จะรับมือกับการปฏิวัติดิจิทัล ตั้งแต่หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เครือข่ายร้านเช่าวีดิโอ ร้านค้าปลีก ไปจนถึงผู้ผลิตสินค้าอนาล็อก

อีสต์แมน โกดัก ลงทุนอย่างหนักในการพัฒนาและผลิตเครื่องพิมพ์ดิจิทัลและกล้องดิจิทัล ซึ่งเปิดตัวในปี 2538 แม้สินค้าประสบความสำเร็จ แต่บริษัทกลับขาดแคลนความได้เปรียบในการแข่งขัน เมื่อมีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย ทั้ง โซนี่ พานาโซนิค เดลล์ และฮิวเลตต์-แพคการ์ด ขณะที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำกำไรต่ำกว่าฟิล์มแบบดั้งเดิมมาก

กระนั้นก็ดี ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ว่า คำนิยามของกล้องและฟิล์มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เกิดประโยชน์กับ อีสต์แมน โกดัก ปัจจุบันกล้องถ่ายรูปถูกแทนที่ด้วยคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ อันเป็นตลาดที่ อีสต์แมน โกดัก ไม่เคยแตะต้องมาก่อน และไม่สามารถแข่งขันได้ ลูกค้าไม่มีแรงจูงใจที่จะซื้อกล้องดิจิทัล เมื่อโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือแทบเล็ตต่างมีกล้องติดไว้ในตัวอยู่แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น การที่กล้องถ่ายรูปแบบดั้งเดิมไม่ได้รับความนิยม พลอยทำให้ฟิล์มถ่ายรูปไม่ได้รับความนิยมไปด้วย อีสต์แมน โกดัก จึงโชคร้ายซ้ำซ้อน ผู้บริโภคหันไปพึ่งอุปกรณ์ดิจิทัลในการถ่ายรูป แล้วจัดเก็บหรือแจกจ่ายผ่านระบบออนไลน์ อีกทั้งยังสามารถพิมพ์ออกมาได้เองทั้งที่บ้านหรือที่ทำงาน บริษัทที่พึ่งพาการขายฟิล์ม พบว่าตัวเองตกที่นั่งเดียวกับผู้ผลิตแผ่นเสียงไวนิลในยุคซีดีครองโลก

ผู้ผลิตบางรายพยายามรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้วยการกำจัดธุรกิจฮาร์ดแวร์ที่มีการแข่งขันสูง และหันไปเน้นบริการที่ทำกำไรสูงกว่า ตัวอย่างเช่น ไอบีเอ็ม ซึ่งตัดสินใจขายธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลให้ เลอโนโว และหันไปเน้นการให้บริการภาคธุรกิจและราชการ

อย่างไรก็ตาม การนำเสนอบริการที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายรูปอาจเป็นเรื่องยากสำหรับ อีสต์แมน โกดัก เนื่องจากปัจจุบันมีการคิดค้นวิธีบริหารจัดการ และแบ่งปันรูปภาพผ่านระบบออนไลน์จากบริษัทซอฟต์แวร์จำนวนมาก เช่น ฟลิกเกอร์ หรือชัตเตอร์ฟลาย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

แม้ว่า อีสต์แมน โกดัก ยังเป็นยี่ห้อที่โด่งดัง แต่คนส่วนมากไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ของโกดักในการถ่ายรูปอีกต่อไป และแม้ว่าความเชื่อของ จอร์จ อีสต์แมน กลายเป็นจริงที่ว่า ใครๆ ก็เป็นตากล้องได้ และสามารถซื้อหาอุปกรณ์ถ่ายรูปในราคาไม่แพง แต่ก็เป็นเรื่องน่าเจ็บปวดที่การถ่ายรูปในยุคดิจิทัลไม่มีที่ว่างเหลือให้กับผลิตภัณฑ์ของโกดักเสียแล้ว

No comments: