Wednesday, December 14, 2011

ราชินีแฟชั่นแห่งพนมเปญ

*ข้อมูลและภาพจากพนมเปญโพสต์

(เดลีมาร์เก็ต พุธ 14 ธ.ค.54)

แวดวงไฮโซกัมพูชามีของเล่นชิ้นใหม่ เมื่อหม่อมเออร์ไมน์ ชายาเจ้านโรดม นฤทธิพงศ์ เปิดกิจการ เลอ เมอเรส์ บูติก โฮเต็ล แอนด์ ปารีส แฟชั่น บนถนน 222 ในกรุงพนมเปญ รองรับความต้องการแฟชั่นสไตล์ฝรั่งเศส



หม่อมเออร์ไมน์ ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศสเชื้อสายอิตาลี เคยทำงานให้กับ โจเซฟ เอตเตดกุย ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ “โจเซฟ” ในกรุงลอนดอน อังกฤษ โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งเด็กดูแลห้องเก็บเสื้อผ้า จนก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการห้องเสื้อ 10 แห่งทั้งในกรุงลอนดอน และกรุงปารีส ฝรั่งเศส ก่อนได้พบกับเจ้านโรดม สิตา และกลายเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกัน

หม่อมเออร์ไมน์พบกับเจ้านฤทธิพงศ์เป็นครั้งแรก เมื่อเจ้าสิตาชักชวนให้เธอไปเที่ยวกรุงพนมเปญ ทั้งสองตกหลุมรักซึ่งกันและกัน และเข้าพิธีสมรสเมื่อเดือนตุลาคม 2546 ที่วังหลวง โดยมีสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงเป็นองค์ประธาน

เจ้านฤทธิพงศ์และหม่อมเออร์ไมน์ มีทายาท 2 คน ได้แก่ ออร์เฟีย วัย 5 ขวบ และทีโอ วัย 3 ขวบ ทั้งหมดย้ายจากกรุงปารีสมายังกรุงพนมเปญเมื่อเดือนกันยายน 2553

หม่อมเออร์ไมน์ กล่าวว่า เป้าหมายของ เลอ มาเรส์ ซึ่งตั้งชื่อตามย่านแฟชั่นในฝรั่งเศส คือการนำความแตกต่างมาสู่กรุงพนมเปญ

หม่อมชาวฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า สุภาพสตรีในฝรั่งเศสแต่งตัวแตกต่างอย่างมากจากผู้หญิงในนิวยอร์ก มีการผสมผสานระหว่างแฟชั่นชั้นสูงและชั้นกลาง อันเป็นสไตล์ของกรุงปารีส และเด็กๆ ก็แฟชั่นจ๋าด้วย

“สุภาพสตรีกัมพูชาชื่นชอบแฟชั่น ซึ่งเราก็เลือกแบรนด์ยอดนิยมของฝรั่งเศสเข้ามา อย่าง เลส์ เปอร์ติตส์ และเบลแอร์ แฟชั่นในร้านจะเป็นแบบเดียวกับที่เห็นในกรุงปารีส” หม่อมเออร์ไมน์ กล่าว

ระหว่างที่ยังทำงานอยู่ในกรุงลอนดอน หม่อมเออร์ไมน์มีโอกาสถวายงาน ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ด้วย ซึ่งเธอรำลึกความหลังว่า เจ้าหญิงทรงน่ารักมาก แต่มักรีบเสด็จ ทางร้านต้องปิดร้านให้พระองค์เป็นพิเศษ เพื่อหลีกเลี่ยงฝูงชนจำนวนมาก

หม่อมเออร์ไมน์ มาจากหมู่บ้านทางเหนือในฝรั่งเศส และอพยพไปกรุงลอนดอนตั้งแต่อายุ 18 ปี ในตอนแรกที่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เธอต้องทำงานล้างกระจกหน้าต่าง แต่ในที่สุดก็ได้มาทำงานกับ โจเซฟ และอยู่นานถึง 22 ปี โดยทำอยู่ที่กรุงลอนดอน 12 ปี ที่เหลือเป็นการทำงานในกรุงปารีส

หลังจากครอบครัวตัดสินใจอพยพมาอยู่ที่กรุงพนมเปญ หม่อมเออร์ไมน์ ก็มองหาทำเลเปิดร้านเสื้อผ้าตามความถนัด จนมาถูกใจถนน 222 ที่เงียบสงบ และขยายโครงการกลายเป็นบูติก โฮเต็ล ที่มีห้องเสื้อตั้งอยู่ด้วย โดยเริ่มกิจการเมื่อเดือนกันยายน มีห้องพัก 6 ห้อง ราคาระหว่าง 45-110 ดอลลาร์ต่อคืน

เจ้านฤทธิพงศ์และหม่อมเออร์ไมน์ เน้นการจ้างพนักงานท้องถิ่นไร้ประสบการณ์ และฝึกอบรมพวกเขาเอง เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้ชาวกัมพูชา

หม่อมเออร์ไมน์ กล่าวว่า โรงแรมแห่งนี้เหมาะกับการพักผ่อนของครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่รักความสงบ

No comments: