(เดลีมาร์เก็ต พุธ 19 ต.ค.54)
ผ่านพ้นไปแล้วกับพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน กับ เจตซุน เปมา พระคู่หมั้นสาวสามัญชน ซึ่งมีการเฉลิมฉลอง 3 วัน ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม
พระราชพิธีวันแรกมีขึ้นที่เมืองพูนาคา เมืองหลวงเก่าของประเทศ โดยไม่มีการเชิญสมาชิกราชวงศ์จากต่างประเทศ ผู้นำประเทศ หรือเหล่าคนดังเข้าร่วม มีเพียงสมาชิกราชวงศ์ภูฏาน และประชาชนชาวภูฏานนับพันคนในหมู่บ้านใกล้เคียง เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ขณะที่ชาวภูฏานประมาณ 700,000 คนเฝ้าชมการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์
ในพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นตามโบราณราชประเพณี สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จไปรับเจ้าสาวที่สะพานไม้ เพื่อข้ามไปประกอบพระราชพิธีทางศาสนา บริเวณลานหน้าพระอารามหลวงภายในพูนาคาซอง ป้อมปราการอายุ 373 ปีที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 17 ก่อนเสด็จเข้าภายในพระอุโบสถ เพื่อทรงทรงสดับการสวดมนต์ถวายพระพรจากเหล่าสงฆ์ และประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระราชินีพระองค์ใหม่
จากนั้น ทั้งสองพระองค์เสด็จออกพบปะประชาชนที่มาเฝ้ารอรับเสด็จอยู่ด้านนอก และตลอดทั้งวันมีการจัดงานเฉลิมฉลอง และงานรื่นเริงตามแบบฉบับของชาวภูฏาน ทั้งที่เมืองพูนาคา กรุงทิมพู เมืองหลวง และเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ
ต่อมาในวันที่สอง สมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินี เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองพูนาคา กลับไปยังกรุงทิมพู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดำเนินเท้า ระหว่างทางมีประชาชนเฝ้ารอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก
วันสุดท้ายเป็นการประกอบพระราชพิธีทางศาสนาในกรุงทิมพู ซึ่งแตกต่างจากที่เมืองพูนาคา เนื่องจากมีอาคันตุกะรับเชิญเป็นตัวแทนจากหลายประเทศ รวมถึง ราหุล คานธี บุตรชายของ ราชีพ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย และซอนยา คานธี ประธานพรรคคองเกรสอินเดีย
ภายหลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีทางศาสนา สมเด็จพระราชาธิบดีทรงสร้างความประหลาดใจด้วยการจุมพิตสมเด็จพระราชินีต่อหน้าประชาชนหลายพันคน ที่มาเฝ้าชมพระราชพิธีในสนามกีฬา จากนั้นทรงเต้นรำร่วมกับเหล่านักแสดง พร้อมกับสมเด็จพระราชินี สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก พระราชบิดา และข้าราชการระดับสูง
นักเรียนหญิงคนหนึ่งที่มาเฝ้าชมพระราชพิธีประวัติศาสตร์กล่าวว่า การได้เห็นสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินี เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่มองอนาคตของตัวเอง ว่าจะเป็นสามีภรรยาที่รักกันแบบทั้งสองพระองค์
No comments:
Post a Comment