Wednesday, July 18, 2012

สมบัติชิ้นใหม่ราชวงศ์กาตาร์

(เดลีมาร์เก็ต พุธ 18 ก.ค.55)
สัปดาห์ที่แล้วมีข่าวฮือฮาในวงการแฟชั่น เมื่อ วาเลนติโน ห้องเสื้อชั้นนำของอิตาลี ออกมาประกาศว่าถูกซื้อกิจการโดย เมย์ฮูลา ฟอร์ อินเวสต์เมนต์ บริษัทเพื่อการลงทุนของราชวงศ์กาตาร์ ถือเป็นการซื้อขายแบรนด์หรูของยุโรปรายการล่าสุดโดยนักลงทุนจากตลาดเกิดใหม่

วาเลนติโน ไม่เปิดเผยตัวเลขการซื้อขาย แต่แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดสถานการณ์อ้างว่า ข้อตกลงมีมูลค่า 700 ล้านยูโร หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท สูงกว่า กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ปี 2554 ประมาณ 31.5 เท่า

ตัวเลขดังกล่าวเหนือกว่าที่ แอลวีเอ็มเอช ซื้อ บุลการี เมื่อปีที่แล้ว ในราคาสูงกว่า EBITDA 28.2 เท่า

นักวิเคราะห์มองว่า ราชวงศ์กาตาร์ ซึ่งซื้อห้างแฮร์รอดส์ในกรุงลอนดอน อังกฤษ เมื่อปี 2553 ในวงเงิน 1,500 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 75,000 ล้านบาท  กำลังสะสมแบรนด์หรูไว้ในสต็อก

ราเชล ซีมบา นักวิเคราะห์จาก รูบินี โกลบอล อิโคโนมิกส์ ให้ความเห็นว่า แบรนด์เหล่านี้สอดคล้องกับรสนิยมของกาตาร์ ทั้งการเป็นไอคอน การเป็นแบรนด์คุณภาพสูง มีมูลค่าในระยะยาว และมีฐานลูกค้าที่น่าพึงใจ

วาเลนติโน ก่อตั้งเมื่อปี 2503 โดย วาเลนติโน การาวานี ดีไซเนอร์ชาวอิตาเลียน และมีชื่อเสียงไปทั่วโลกจากการเป็นแบรนด์โปรดของเจ้าหญิงหลายองค์ และดาราดังๆ แห่งฮอลลีวูด

แบรนด์นี้ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤติการเงินยุโรปช่วงไม่กี่ปีมานี้ และจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้เมื่อเดือนธันวาคม 2552 จากนั้นก็ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อแข่งขันกับแบรนด์ใหม่ๆ อย่าง ดอลเช แกบบานา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของ วาเลนติโน เริ่มกระเตื้องขึ้น เมื่อลูกค้าระดับอัครมหาเศรษฐีที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเงิน สนใจซื้อสินค้าหรูหราราคาแพงมากขึ้น

ทางด้านราชวงศ์กาตาร์ก็กว้านซื้อผู้ผลิตสินค้าหรูหราหลายราย ตั้งแต่ พอร์ช ผู้ผลิตรถสปอร์ตสัญชาติเยอรมัน ไปจนถึง ธนาคารบาร์เคลย์ ของอังกฤษ

นักวิเคราะห์คาดว่า การซื้อแบรนด์หรูเหล่านี้ ได้รับแรงผลักดันจาก เชคคามูซา บินนาซีร์ อัลมุสนัด พระชายาองค์ที่สองใน เชคฮามัด บิน คอห์ลิฟะห์ อัลทานี เจ้าผู้ครองนครกาตาร์ ซึ่งโปรดปรานเสื้อผ้าของ วาเลนติโน และได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสาร แวนิตี แฟร์ เป็นสตรีที่แต่งกายมีสไตล์ดูดีที่สุดประจำปี 2554

ในด้านหนึ่ง เชคคามูซา ทรงเป็นเจ้าของ กาตาร์ ลักชัวรี กรุ๊ป ซึ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจแฟชั่น และอุตสาหกรรมการบริการต้อนรับ แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ทรงเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย

พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลกาตาร์ และทรงเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังการจัดตั้ง "เมืองแห่งการศึกษา" ชานกรุงโดฮา อีกทั้งยังทรงสนับสนุนการเปิดช่องโทรทัศน์สำหรับเด็ก ทางสถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา อีกด้วย

ด้วยผลงานอันโดดเด่น ทำให้นิตยสารฟอร์บส์ ยกย่อง เชคคามูซา เป็น 1 ใน 100 สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกเมื่อปี 2553 โดยทรงอยู่ที่อันดับ 74

No comments: